การตัดสินใจว่าเราจะใช้ชีวิตคู่อยู่ที่ไหนหลังแต่งงาน เป็นเรื่องสำคัญและมีผลต่อความสัมพันธ์มากค่ะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายแต่งเข้าบ้านผู้หญิงตามธรรมเนียมไทยโบราณ ผู้หญิงแต่งเข้าบ้านผู้ชายตามธรรมเนียมจีน หรือการแยกเรือนหอออกมาอยู่กันสองคน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป วันนี้ SabuyWedding จะพาเพื่อน ๆ ไปดูกันค่ะ
1. แต่งเข้าบ้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
คู่แต่งงานบางคู่อาจเลือกแต่งเข้าบ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหลังแต่งงาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายแต่งเข้าบ้านผู้หญิงหรือผู้หญิงแต่งออกมาอยู่บ้านผู้ชาย เนื่องจากทำตามธรรมเนียม, บ้านพ่อแม่มีพื้นที่เพียงพอที่จะอยู่อาศัยร่วมกัน หรือเพราะมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้ไม่สามารถแยกเรือนหอออกไปอยู่ที่อื่นได้ ซึ่งการตัดสินใจอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ส่งผลต่อชีวิตคู่หลังแต่งงานดังนี้ค่ะ
* ข้อดีของการใช้ชีวิตคู่อยู่บ้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- มีเวลาดูแลพ่อแม่ หากคุณพ่อคุณแม่มีอายุเยอะแล้ว หรือมีโรคประจำตัว การใช้ชีวิตคู่อาศัยอยู่ร่วมกับท่าน จะทำให้มั่นใจได้ว่าท่านมีคนคอยดูแล หรือหากเกิดเหตุอะไรขึ้น เราจะสามารถช่วยเหลือได้ทันที
- สะดวกในการดูแลกิจการของทางบ้านได้มากกว่า โดยเฉพาะหากธุรกิจหรือกิจการส่วนตัวอยู่นั้น ตั้งอยู่ที่บ้านเลยเลยค่ะ
- สามารถฝากให้คุณตาคุณยายช่วยดูแลหลานได้ หากหลังแต่งงาน สามีภรรยาตัดสินใจมีลูกด้วยกัน แล้วยังมือใหม่ มีเรื่องที่ยังไม่รู้หรือทำไม่เป็น พ่อแม่ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนสามารถช่วยแนะนำได้ หรือช่วยดูแลได้เมื่อเราไม่มีเวลาหรือมีธุระด่วนค่ะ
- ไม่ต้องลงทุนซื้อบ้านใหม่ เพราะการใช้ชีวิตคู่อยู่ในบ้านของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทำให้ไม่ต้องแบ่งเวลาไปหาดูเรือนหอใหม่ และจัดการธุระเรื่องต่าง ๆ กว่าจะได้บ้านมาสักหลัง
* ข้อเสียของการใช้ชีวิตคู่อยู่บ้านฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
- ต้องปรับตัวหลายอย่าง เพราะลูกเขยหรือลูกสะใภ้ที่เป็นฝ่ายแต่งเข้าบ้านหลังแต่งงาน จะต้องอยู่อาศัยร่วมกับคนใหม่ ๆ ที่ไม่เคยอยู่ด้วยกัน อาจมีเรื่องธรรมเนียมของแต่ละบ้านที่แตกต่างกัน ทำความคุ้นเคยกับกิจวัตรของแต่ละคนในบ้าน รวมถึงต้องสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับสมาชิกในครอบครัวของอีกฝ่ายด้วยค่ะ
- อำนาจในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นของพ่อแม่ เนื่องจากเป็นบ้านของท่านเอง ดังนั้นถ้าเราอยากให้ท่านปรับเปลี่ยนส่วนไหน อาจทำได้ยากเพราะความเคยชิน หรือการพูดคุยปรับความใจกันเป็นเรื่องยากค่ะ
- มีพื้นที่ส่วนตัวน้อยลง ถึงแม้ว่าจะมีห้องนอนแยกกับพ่อแม่ แต่ก็ยังต้องเจอกันที่ห้องอื่น ๆ ในบ้าน หรือมีสิ่งของต่าง ๆ ที่ต้องใช้ร่วมกันอยู่ บางครั้งอาจทำให้เรารู้สึกมีอิสระหรือความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าแยกไปใช้ชีวิตคู่ที่เรือนหอค่ะ
- สไตล์การเลี้ยงลูกหรือวิธีดูแลเด็กของเรากับพ่อแม่ไม่ตรงกัน อาจทำให้เกิดปัญหาหลายอย่างได้ค่ะ เช่น อาหารที่เด็กกินได้-ไม่ได้ ความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงเด็ก หรือตามใจหลานมากเกินไป เป็นต้น
2. อยู่เรือนหอใหม่หลังแต่งงาน
หลังแต่งงาน หลายคู่เลือกวิธีแยกบ้านหรือสร้างเรือนหอใหม่ เพื่อออกมาใช้ชีวิตคู่และสร้างครอบครัวด้วยกัน โดยอาจกลับไปเยี่ยมพ่อแม่บ้างเมื่อมีโอกาส เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง มีคนอื่นช่วยดูแลอยู่ หรืออยากลูก ๆ แยกเรือนหอออกไปอยู่กันเองมากกว่าค่ะ
* ข้อดีของการใช้ชีวิตคู่อยู่เรือนหอ
- ทั้งบ้านเป็นพื้นที่ส่วนตัวของเรา เมื่อแยกออกมาใช้ชีวิตคู่กันสองคนในบ้านหนึ่งหลัง เราสามารถเลือกได้ว่าอยากใช้ห้องไหนเป็นห้องอะไรบ้าง เช่น ในอนาคตหากมีลูก ก็สามารถสร้างห้องส่วนตัวให้ลูกได้ โดยไม่ต้องแชร์พื้นที่ในบ้านกับคนอื่นค่ะ
- มีอำนาจในการจัดการและตัดสินใจเลือกสิ่งต่าง ๆ ในบ้านเองได้ เพราะอยู่ในบ้านที่เป็นของเราเอง ไม่ต้องขออนุญาตหรือรอฟังความเห็นจากทุกฝ่ายให้ครบก่อนค่ะ
- สามารถเลี้ยงดูลูกได้ตามสไตล์ของตนเอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความขัดแย้งจากการมีความคิดเห็นหลายฝ่ายมากเกินไป และไม่ต้องปรับตัวกับความเชื่อหรือสไตล์การเลี้ยงดูเด็กหลากหลายแบบค่ะ
- มีทรัพย์สินที่มั่นคงเป็นของตัวเอง ถ้าตัดสินใจช่วยกันซื้อบ้านหรือคอนโดใหม่เพื่อสร้างครอบครัวด้วยกันหลังแต่งงาน และในอนาคตอาจส่งต่อให้ลูก ๆ หรือสร้างประโยชน์จากอสังหานี้ได้อีกด้วยค่ะ
* ข้อเสียของการใช้ชีวิตคู่อยู่เรือนหอใหม่
- มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าต้องการซื้อบ้านหรือคอนโดไว้เป็นเรือนหออยู่กันหลังแต่งงาน และหากเลือกเป็นการผ่อนชำระ ก็จะถือว่าเป็นการสร้างหนี้ก้อนใหญ่ระยะยาวเลยค่ะ
- ต้องหาวิธีแก้ปัญหา หากพ่อแม่อายุมากขึ้น ในอนาคตถ้าเราต้องรับหน้าที่ต้องดูแลท่าน จะหาทางออกยังไงหากไม่ได้อยู่ด้วยกัน เช่น หาญาติพี่น้องที่สะดวกมาอยู่กับพ่อแม่ หรือจ้างพยาบาล จ้างคนดูแลมาช่วย ซึ่งก็มีค่าใช้จ่ายตามมาด้วยค่ะ
- ต้องพูดคุยตกลงกันเรื่องเวลาให้เข้าใจ ถ้าตัดสินใจแยกเรือนหอออกมาอยู่กันเอง แล้วพ่อแม่อยากให้กลับไปเยี่ยมบ่อย ๆ ให้พาหลานไปหา จะสะดวกไปช่วงไหนบ้าง ถี่แค่ไหน เพราะอาจต้องเหนื่อยหรือมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางค่ะ
- ถ้าไม่สามารถดูแลลูกได้ตลอดเวลาจะทำอย่างไร หากเราไม่ว่างพร้อมกันทั้งคู่ จะจ้างคนมาช่วยเลี้ยงไหม หรือหากเกิดเหตุจำเป็นกะทันหัน จะฝากให้ใครช่วยดูลูกได้บ้าง
ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตคู่ในบ้านของพ่อแม่หรือแยกเรือนหอออกมาอยู่กันเอง ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน ดังนั้นคำตอบที่เหมาะสมสำหรับชีวิตหลังแต่งงานของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต ความสะดวกสบายใจ และไม่กระทบกับความสัมพันธ์หลังแต่งงานของเราค่ะ