เมื่อพูดถึงเรื่องสินสอดระหว่างคู่รัก LGBTQ+ อาจจะมีคำถามมากมายเกิดขึ้น เช่น เมื่อเป็นเพศเดียวกัน ใครควรจ่ายค่าสินสอด ซึ่งเรื่องนี้ยังมีความท้าทายในการจัดการและพูดคุย เนื่องจากไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในปัจจุบัน ดังนั้น SabuyWedding จึงอยากแชร์ 3 เทคนิคการคุยเรื่องสินสอดระหว่างคู่รัก LGBTQ+ ให้ทุกฝ่ายแฮปปี้กันค่ะ
1. เปิดใจพูดคุยกับคนรักอย่างตรงไปตรงมา
การคุยเรื่องสินสอดอย่างจริงจังก่อนแต่งงานเป็นเรื่องจำเป็นมากค่ะ แนะนำให้คุณลองนำมาพูดคุยกันว่าอีกฝ่ายมีความคาดหวัง ความต้องการ และมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับสินสอด และสิ่งนี้สำคัญต่อความสัมพันธ์หรือไม่ หากได้ข้อสรุปแล้ว จึงควรนัดพูดคุยกับครอบครัวทั้งสองฝ่ายให้รับรู้และตกลงร่วมกันอีกทีค่ะ
2. เข้าใจและเคารพประเพณีความเชื่อของญาติผู้ใหญ่
แม้ว่าคู่รักในปัจจุบันจะมีความคิดที่ทันสมัยและเปิดกว้าง แต่การเข้าใจความต้องการของญาติผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายก็เป็นสิ่งสำคัญค่ะ เพราะเรื่องสินสอดเป็นประเพณีที่มีมายาวนาน หากครอบครัวมองว่าต้องมี ทั้งสองฝ่ายก็ต้องตกลงกันก่อนสมรส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมูลค่าของสินสอด และสินสอดนั้นจะมอบให้ฝ่ายใด ซึ่งเราจะเรียกฝ่ายที่สู่ขอว่า ผู้หมั้น และฝ่ายที่ถูกขอว่า ผู้รับหมั้น ค่ะ
3. ปรับเปลี่ยนประเพณีให้เข้ากับความสัมพันธ์
การมอบสินสอดตามประเพณีดั้งเดิมนั้น เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายชายเอาสินสอดทองหมั้นไปมอบให้พ่อแม่ของฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักประกันสัญญาว่าจะแต่งงานกับลูกสาว และเป็นสินน้ำใจให้กับพ่อแม่ของฝ่ายหญิงที่ได้เลี้ยงดูลูกสาวมาจนถึงวันออกเรือน ซึ่งคู่รัก LGBTQ+ ก็สามารถเลือกที่ยึดตามประเพณีดั้งเดิมได้เช่นกัน เพียงตกลงกันว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้หมั้นและผู้รับหมั้น
สำหรับคู่ที่อยากปรับเปลี่ยนเรื่องสินสอด ก็อาจปรับได้ดังนี้ค่ะ
- คู่รักช่วยกันเก็บเงินจำนวนหนึ่งด้วยกัน และเลือกมอบสินสอดนั้นเป็นค่าน้ำนมให้พ่อแม่ทั้งสองฝั่งแทน เป็นวิธีที่น่ารักด้วยค่ะ
- พ่อแม่ของทั้งคู่มอบค่าสินสอดนั้นเป็นเงินขวัญถุงให้ทั้งคู่ไปเริ่มต้นชีวิตครอบครัว
- เลือกไม่ใช้สินสอดเลยหากทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันค่ะ โดยในพิธีแต่งงานก็สามารถตัดช่วงปูเรียงสินสอดได้เลย หรือใช้เป็น Vow Ceremony แทนก็ได้ค่ะ
สุดท้ายนี้ สิ่งสำคัญที่สุดในความสัมพันธ์คือความรักและการสนับสนุนซึ่งกันและกัน สินสอดอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งในพิธีแต่งงานเท่านั้น แต่ความรักและความเข้าใจคือสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของคู่คุณมีความมั่นคงค่ะ